แม่ท้องเป็นตะคริว

“โอ้ยๆๆ ตัวเอง เค้าปวดมาก !! ช่วยหน่อย ” คุณแม่ท้องทุกคนน่าจะเคยมีอาการนี้นะคะ

นั่นก็คือการเป็น #ตะคริว

การเป็นตะคริวจะพบได้บ่อยในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ยิ่งเมื่อตั้งครรภ์ไปได้สัก 6 เดือนเป็นต้นไปก็ยิ่งเป็นตะคริวบ่อยขึ้น จนบางครั้งปวดจนไม่สามารถนอนหลับได้เลย อาการตะคริวในหญิงตั้งครรภ์นั้นมักจะเกิดขึ้นบริเวณน่อง ซึ่งบ่อยครั้งจะเป็นในช่วงกลางคืนหรือในช่วงที่มีอากาศเย็น เราจะรับมือและเตรียมการป้องกันอาการตะคริวตลอดช่วงการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของขาทั้งสองข้างที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และระบบหมุนเวียนโลหิตที่ตึงแน่นเกินไปบริเวณขา ตะคริวเกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวขึ้นมาทันทีทันใด โดยมากมักจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณน่องหรือบริเวณปลายเท้า ท่านั่งทำงานก็มีส่วนเกี่ยวข้องค่ะ โดยเฉพาะแม่ที่ทำงานในท่านั่งหรือยืนนานๆ ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก เกิดของเสียคั่งบริเวณน่อง ตะคริวมักจะเกิดตอนช่วงกลางคืนหรือรุ่งสาง และในช่วงอากาศเย็น

#วิธีการแก้อาการตะคริว

– พยายามเหยียดกล้ามเนื้อ ขึ้นกับว่าเป็นตะคริวที่ไหน เช่น หากเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดน่องออกไปให้สุด แล้วดัดปลายเท้าให้กระดกขึ้นค้างไว้ประมาณ 20-30 วินาที แล้วทำซ้ำเรื่อยๆ อาการตะคริวที่น่องจะดีขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถกระดกเท้าได้ให้สามีมาช่วยทำให้นะคะ

– ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขา เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นจากพื้นเล็กน้อย และกระดกปลายเท้าลงด้านล่าง #เคล็ดลับง่ายๆป้องกันเป็นตะคริวเวลานอน

1. ทานอาหารที่มีแมกนีเซียมอย่างเพียงพอ เช่น น้ำผักใบเขียว เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ หรือ เต้าหู้ ควรกินปลาเล็กปลาน้อย นม โยเกิร์ต ชีส เป็นต้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณแม่ท้องแข็งแรง

2. ทานอาหารที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นม, ปลากรอบ (ปลาตัวเล็กๆ ที่เคี้ยวได้ทั้งกระดูก), กุ้งแห้ง, ผักใบเขียวต่างๆ หรือข้าวโพด เป็นต้น จะช่วยแก้อาการตะคริว ค่ะ

3. สวมถุงเท้าและห่มผ้าเวลานอน หากเราสวมถุงเท้าและห่มผ้าทุกครั้งเวลานอน จะช่วยให้ความอบอุ่นที่ปลายเท้า ซึ่งเป็นจุดรวมประสาท เมื่อปลายเท้าอุ่นดีแล้วก็จะลดอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อลง

4. ฝึกยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบ่อยๆ เช่น การนั่งเหยียดเท้าให้สุด แล้วสลับเหยียดกับกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว

5. การขยับหรือเปลี่ยนอิริยาบทต่างๆ ให้ทำอย่างช้าๆ

6. หลีกเลี่ยงการเดินหรือยืนนานๆ ในเวลากลางวัน พยายามอย่ายืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเลือดไหลเวียนไม่สะดวกอาจจะเกิดของเสียคั่งอยู่ตามกล้ามเนื้อทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายเช่นกันค่ะ

7. เลือกรองเท้าให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้าและกล้ามเนื้อ รองเท้าควรจะมีส้นหนาเล็กน้อยเพื่อรับน้ำหนักตัวได้ดี

8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกท่าทางที่เหมาะสมกับอายุครรภ์

อาการตะคริวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคุณแม่ท้องก็ว่าได้นะคะ คุณแม่ท้องก็อย่าได้กังวลมากจนเกินไป การหาความรู้ในเรื่องอาการของผู้หญิงตั้งครรภ์ไว้ จะทําให้คุณแม่สามารถรับมือกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ และรู้จักการสังเกตอาการตนเองล่วงหน้า หรือถ้าไม่แน่ใจ คุณหมอที่คุณแม่ฝากท้องจะเป็นผู้แนะนํา และแก้ไขให้คุณแม่ได้ดีที่สุดนะคะ

#oboonoilthailand

Comments