5 วิธี ป้องกันอาการอาหารไม่ย่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว นอกจากต้องเลือกทานอาหารให้ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ ก็ยังต้องระวังในเรื่องของอาการอาหารไม่ย่อยที่อาจจะตามมา เนื่องจากบางครั้ง คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะพบกับอาการ อาการไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด หรืออาการกรดไหลย้อน แต่ปัญหาเหล่านี้ก็มีวิธีป้องกัน เพียง 5 วิธี ง่ายๆ ตาม อบอุ่น มาดูทีละข้อกันเลยค่ะ 🙂

 

1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร

โดยเฉพาะอาหารที่มีรสจัดเกินไป หรืออาหารรสเผ็ดจัด เพราะเมื่อรับประทานในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนั้นยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำมันเยิ้ม หรือน้ำมันมาก และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ค่ะ

 

2. ดื่มน้ำในแต่ละวันให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ใช่กับการดื่มน้ำสลับกับการรับประทานอาหาร เพราะนั่นอาจจะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้อง และเสียดท้อง เพราะอาหารไม่ย่อยได้ ทางที่ดีคุณแม่จึงควรเลือกดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร หรือ หลังรับประทานอาหารจะดีกว่าค่ะ

 

3. เลือกรับประทานเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ

การรับประทานอาหารให้ตรงต่อเวลาจัดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเกิดคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าพักนี้มีอาการอาหารไม่ย่อยบ่อยๆ ก็ลองเปลี่ยนวิธีการจากการกินมื้อใหญ่ มาเป็นการแบ่งกินทีละน้อยๆ หลายๆ มื้อแทน อาจจะเป็น 6 มื้อ ต่อวัน โดยเลือกอาหารที่ย่อยได้ง่าย และไม่มีรสจัดเกินไป

 

4. ควรมียาลดกรดในกระเพาะอาหารไว้ใกล้ตัวเสมอ

ควรมียาลดกรอดในกระเพาะอาหารติดตัว และติดบ้านไว้เสมอ เพราะเมื่อคุณแม่เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ยาลดกรดก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะช่วยบรรเทากรอดในกระเพาะอาหารให้น้อยลง และยังป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ รวมไปถึงอวัยวะอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหารอีกด้วยค่ะ

 

5. หลีกเลี่ยงการนอนทันที หลังรับประทานอาหาร

หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือ รับประทานอาหารในท่านอน เพราะจะทำให้อาหารย่อยยาก ควรเว้นระยะเวลาหลังจากการรับประทานอาหารประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จากนั้นคุณแม่ควรหาหมอนหนุนศีรษะให้เป็นในลักษณะลาดลง เพื่อช่วยให้อาหารได้ลำเลียงไปสู่กระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดอาการกรดไหลย้อน หรือถ้าคุณแม่ยังรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว และจุกเสียดแน่นท้องหลังรับประทานอาหารบ่อยๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อรักษาต่อไปนะคะ

 

ด้วยความปรารถณาดีจาก ” อบอุ่น “

 

Comments