วิธีการนับวันไข่ตก สำหรับผู้หญิงที่อยากมีลูก

สำหรับบางครอบครัวแล้วการมีลูกไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่งงานกันมาตั้งนานแต่ก็ไม่ยักกะมีเจ้าตัวน้อยสักที เรื่องแบบนี้ใครไม่เจอกับตัวคงไม่รู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่หมดหวังค่ะ เพราะเรามีอีกวิธีหนึ่งอย่างการทำกิจกรรมร่วมกันในวันไข่ตก ที่เค้าว่ากันว่าได้ผลซะด้วย!!
แต่…ไข่ตกมันคืออะไร? มาตอนไหน? แล้วต้องนับยังไงกันนะ?
วันนี้ “อบอุ่น” ขออาสาพาทุกคนไปรู้จักกับวิธีการนับไข่ตก สำหรับครอบครัวที่อยากมีเจ้าเบบี้ตัวน้อยกันค่ะ

ไข่ตกคืออะไร ?

ไข่ตก หรือที่บางคนเรียกว่า ตกไข่ คือ สภาวะที่ร่างกายปล่อยไข่ออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นประจำทุกเดือนโดยวันที่ประจำเดือนมาวันแรกนับเป็นช่วงเริ่มต้นของรอบเดือน

ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมูเลติง (Follicle-Stimulating Hormone: FSH) ออกมาเพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกและช่วยสร้างเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้นในช่วงวันที่ 2-14 ของรอบเดือน ซึ่งเรียกว่าระยะก่อนตกไข่

ส่วนช่วงไข่ตกจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11-21 ของรอบเดือน ในช่วงนี้ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone: LH) สูงขึ้น และมูกช่องคลอดลื่นมากขึ้น เพื่อให้อสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้ แต่หากไข่ไม่ได้ผสมกับอสุจิ เยื่อบุมดลูกจะสลายและกลายเป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง

 

ไข่ตกมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ? 

อย่างที่ได้เกริ่นไปในข้างต้นว่าอาการไข่ตกจะมาทุกๆ เดือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเพศหญิง และเมื่อถึงวันไข่ตกมดลูกจะสร้างผนังมดลูกให้หนาตัวขึ้นและมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้นด้วยเพื่อรองรับการปฏิสนธิ หากคุณผู้หญิงอยู่ในช่วงตกไข่ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับร่างกายได้ 2 แบบ คือ

  1. มีโอกาศตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีไข่ตกพอดี อสุจิจะเคลื่อนที่เข้าไปในท่อนำไข่เพื่อไปปฏิสนธิ และเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิกันแล้ว ก็จะเข้าไปฝังตัวกับผนังมดลูกและเติบโตเป็นทารกต่อไปนั่นเอง
  2. มีประจำเดือน โดยปกติแล้วมดลูกจะสร้างผนังเพื่อรองรับการปฏิสนธิ แต่เมื่อไม่มีการปฏิสนธิในวันที่ไข่ตกแล้ว ผนังมดลูกก็จะสลายตัว แล้วไหลออกไปทางช่องคลอดออกสู่ร่างกายในช่วง 14 วันหลังจากไข่ตก หรือที่เราเรียกว่า “ประจำเดือน”

 

การนับวันไข่ตกทำได้อย่างไร ?

การนับวันไข่ตกสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  • นับวันตามปฏิทิน เป็นการคำนวณภาวะไข่ตกที่ง่าย โดยจดบันทึกวันที่ประจำเดือนเริ่มมาและวันที่ประจำเดือนหมด เหมาะกับผู้ที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ เนื่องจากจะเกิดภาวะไข่ตกตรงกันทุกเดือน ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นประมาณ 14 วันก่อนประจำเดือนมา โดยเริ่มนับย้อนจากวันแรกของประจำเดือนครั้งต่อไปเป็นจำนวน 14 วัน อย่างไรก็ดี วิธีนี้ไม่ค่อยแม่นยำนัก เนื่องจากภาวะไข่ตกไม่ได้เกิดก่อนประจำเดือนมา 14 วันเสมอไป

แต่ถ้าหากเป็นคนที่มีประจำเดือนมาคลาดเคลื่อนหรือมาไม่สม่ำเสมอ
ก็ยังมีวิธีการนับไข่ตกด้วยวิธีอื่นๆ ได้อีกเช่นกันค่ะ

    • ทดสอบด้วยชุดทดสอบการตกไข่ เป็นชุดทดสอบที่ใช้วัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง ซึ่งช่วยคำนวณการตกไข่ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากภาวะไข่ตกเกิดขึ้นหลังจากฮอร์โมนลูทิไนซิงพุ่งขึ้นสูงไปแล้วประมาณ 10-12 ชั่วโมง โดยฮอร์โมนนี้จะสูงขึ้นเป็นเวลา 14-27 ชั่วโมง ในวันที่ 14-15 ของรอบเดือน เพื่อช่วยให้ไข่สุกเต็มที่ การตรวจทำได้โดยปัสสาวะลงบนแท่งทดสอบและนำไปเทียบกับรูปในคู่มือผลิตภัณฑ์ เพื่อดูว่าแถบสีบนแท่งทดสอบมีลักษณะใกล้เคียงกับช่วงไข่ตกหรือไม่ หากปรากฏค่าบนแถบสีไม่ชัดเจนหรือไม่แน่ใจว่าอยู่ในช่วงไข่ตกหรือไม่ ควรทดสอบอีกครั้งภายใน 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรตรวจซ้ำในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อผลการทดสอบที่แม่นยำ รวมทั้งงดน้ำเป็นเวลา 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพื่อให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นและตรวจหาฮอร์โมนลูทิไนซิงได้ง่าย ถ้าอยู่ในช่วงใกล้ไข่ตก ค่า LH จะเพิ่มมากขึ้น และจะไปสูงสุดในวันที่ไข่ตกนั่นเอง ซึ่งช่วงนี้ถ้าหากใครอยากมีเจ้าตัวน้อยล่ะก็ต้องรีบทำการบ้านซะหน่อยแล้วล่ะค่ะ และการตรวจสอบจะยิ่งได้ผลมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการตรวจวัดอุณหภูมิควบคู่ไปด้วยกัน
  • วัดอุณหภูมิร่างกาย โดยทั่วไปแล้ว อุณหภูมิร่างกายขณะพัก (Basal Body Temperature: BBT) จะมีระดับสม่ำเสมอในช่วงต้นของรอบเดือน แต่เมื่อใกล้ช่วงไข่ตก อุณหภูมิร่างกายจะต่ำลงเล็กน้อยและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 0.4-1 องศาเซลเซียส ผู้ที่ต้องการคำนวณภาวะไข่ตกอาจใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลวัดอุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งปกติอุณหภูมิอาจขึ้นลงต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละวัน หากช่วงใดอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่ากำลังอยู่ในช่วงตกไข่ ผู้ที่วางแผนมีบุตรควรจดบันทึกอุณหภูมิร่างกายในช่วงไข่ตกไว้ทุกเดือน เพื่อดูว่าช่วงใดเป็นช่วงที่ร่างกายมีแนวโน้มตั้งครรภ์ได้สูง
  • สังเกตมูกช่องคลอด ส่วนใหญ่ผู้หญิงมีมูกช่องคลอดออกมาทุกเดือน ซึ่งอาจมีเพียงเล็กน้อยหรือมีมูกหนาและเหนียว โดยในช่วงไข่ตกจนถึงช่วงสิ้นสุดของภาวะนี้ จะมีมูกช่องคลอดออกมามาก รวมทั้งมูกมีลักษณะใส ลื่น และยืดได้เหมือนไข่ขาวดิบ

  • จดบันทึกอาการ ภาวะไข่ตกบางครั้งก็ทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามมา เช่น อาการปวดหลังข้างเดียว แต่ทั้งนี้อาการดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะสาเหตุจากไข่ตกเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงควรจดบันทึกและทดสอบด้วยวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยค่ะ

 

เป็นยังไงบ้างคะกับวิธีการนับวันไข่ตกและวิธีการตรวจสอบ ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะคะ แต่ถ้าหากคุณผู้หญิงมีบางส่วนที่สงสัยหรือยังไม่เข้าใจและต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมแล้วล่ะก็ อบอุ่น ขอแนะนำว่าควรปรึกษากับคุณหมอที่เชี่ยวชาญจะดีกว่านะคะ ซึ่งคุณหมออาจจะให้คำแนะนำนอกเหนือจากนี้หรือมีการรักษาแบบเคสบายเคสไป ทีนี้ก็จะได้มีเจ้าเบบี้ตัวน้อยสมใจอยาก หมดความกังวลใจใดๆ เลยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สาระน่ารู้เกี่ยวกับไข่ตกของผู้หญิง, การนับวันไข่ตก

Comments