คุณพ่อ คุณแม่ เคยสังเกตมั้ยคะว่า..ในบางครั้งลูกน้อยของเรานั้น มีอาการน้ำตาซึม มีขี้ตาเหลือง หรือตาขาวอาจจะแดง หรือไม่?? ซึ่งอาการที่แสดงออกเหล่านี้นั้น อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึง “ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน” ก็เป็นได้ค่ะ
โรคท่อน้ำตาอุดตัน
ภาวะโรคท่อน้ำตาอุดตัน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กมักพบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด แต่ในบางครั้งก็สามารถพบภาวะนี้ได้ในเด็กที่ครบกำหนดเช่นกัน ซึ่งเด็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการดีขึ้นและหายในช่วง 1 ขวบปีแรก
สาเหตุที่เกิด “ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน”
สตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต อธิบายเกี่ยวกับ โรคท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก ไว้ว่า
- ท่อน้ำตาอุดตันในเด็กเป็นการอุดตันของท่อน้ำตาบริเวณปลายท่อที่เปิดสู่โพรงจมูก
- โดยปกติแล้วในเด็กแรกเกิดจะมีเยื่อยางๆ ปิดอยู่ที่ปลายท่อน้ำตา โดยส่วนมากเยื่อนี้จะหายไปเองเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน แต่ยังมีส่วนน้อยที่เยื่อไม่หลุดออกไป ทำให้เกิดการอุดตันที่ปลายท่อน้ำตา
- โรคท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียขณะคลอด ทำให้มีขี้ตาลงไปอุดตันก็เป็นได้
- ภาวะท่อน้ำตาอุดตันนี้ พบค่อนข้างบ่อยให้เด็กทารกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ซึ่งภาวะนี้บางคนจะหายไปเองภายใน 2 – 3 เดือน หลังคลอดแต่ในบางคนที่ไม่หายก็ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกมี “ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน”
หลังคุณแม่คลอดลูกน้อยได้ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์สามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกได้ดังนี้ค่ะ
- ลูกน้อยจะมีอาการขี้ตาเยอะ
- มีขี้ตาเหลืองหรือเขียวบ่อยๆ
- ตาแฉะ หรือมีอาการเหมือนน้ำขังที่ตาทั้งที่ไม่ได้ร้องไห้
- เยื่อบุตาขาวอาจจะแดงหรือไม่แดง
- ในบางรายบวมอักเสบเป็นฝีหนองที่หัวตา
วิธีการรักษาเบื้องต้น “ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก”
- นวดหัวตาเพื่อให้เนื้อเยื่อที่ปิดรูท่อน้ำตาทะลุออกไป
- หากยังไม่หายควรพบแพทย์ เพื่อให้ทำการแยงท่อน้ำตา ในบางรายอาจต้องใส่สายยางซิลิโคนในท่อน้ำตาเพื่อป้องกันการอุดตันซ้ำ
- หากในเด็กที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่แรกหรือแยงท่อน้ำตาแล้วยังมีอาการน้ำตาไหลอยู่ อาจต้องพิจารณาผ่าตัดท่อน้ำตาแบบเดียวกับกรณีของผู้ใหญ่
ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก เมื่อดูเผินๆ อาจจะมองดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วภาวะท่อน้ำตาอุไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเอาใจใส่ และคอยสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของเค้านะคะ 🙂
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : พญ.อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล , ท่อน้ำตาอุดตันในทารกรักษาได้