ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นไวรัสลงกระเพาะ

รู้จักอาการไวรัสลงกระเพาะ หรือยัง? มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นเชื้อโรคได้ด้วยตาเปล่า รู้อีกทีลูกน้อยก็เจ็บป่วยมีอาการแสดงออกให้เห็นแล้ว

โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส ที่เป็นกันได้ง่าย พบได้บ่อยอย่างไข้หวัดทั่วไป และหากลุกลามมากขึ้น ลูกน้อยก็อาจติดเชื้อไป

รู้จักเชื้อไวรัส ต้นเหตุของโรค

เชื้อไวรัสตัวเจ้าปัญหาที่เป็นต้นเหตุของอาการไวรัสลงกระเพาะ ที่จริงมีอยู่หลายชนิดแต่ที่พบบ่อยกับเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี คือ เชื้อไวรัสโรตา เป็นเชื้อโรคที่สามารถอยู่ในสภาวะแวดล้อมทั่วไปได้นาน โดยอาจได้รับเชื้อจากสิ่งของรอบตัวที่มีเชื้อ เช่น ของเล่น จาน ชาม บริเวณพื้นที่ไม่สะอาด อาหารที่กินเข้าไป หรือได้รับเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรงเชื้อมักระบาดในช่วงฤดูหนาว แต่อาจพบการติดเชื้อไวรัสโรตาได้ตลอดทั้งปี

ลักษณะอาการที่สังเกตได้

อาจมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ตัวร้อน น้ำมูก หรือไอ ร่วมด้วย

อาการเด่นชัดตามมา คือ อาเจียน ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมากขึ้น อาจมีอาการท้องอืดร่วมด้วย ปฏิเสธอาหารและมีอาการถ่ายเหลวตามมาอาการที่กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่สามารถรักษาอาการด้วยการประคับประคองอาการไม่ให้เป็นมากกว่า เดิม เพราะอาการจะค่อยๆ หายไปได้เองด้วยการดูแลอย่างเหมาะสมของคุณพ่อคุณแม่

ความรุนแรงของเชื้อไวรัสโรตาขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของเด็กแต่ละคน เช่น สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อาการของโรคอาจจะรุนแรงกว่าเด็กปกติทั่วไปได้ เรื่องที่ต้องระวังคือภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน และถ่ายเหลว ซึ่งอาการที่สังเกตได้ คือ ไข้จะสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว งอแง ปากแห้ง ซึม ปัสสาวะลดลง และอาจมีปลายมือ ปลายเท้าเย็น

การป้องกัน ดูแล ที่เหมาะสม

วิธีป้องกัน

  • ดูแลสุขอนามัยเรื่องความสะอาดของพ่อแม่ พี่เลี้ยง และตัวเด็ก
  • ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำหรือปรุงอาหาร
  • รักษาสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เช่น ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ หรือพื้นผิวที่ลูกสัมผัส
  • หลีกเลี่ยงการพาลูกไปในที่ชุมชนหนาแน่น หรือที่ที่มีการระบาดของโรค
  • ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนทางเลือกให้คุณพ่อคุณแม่โดยสามารถเริ่มให้วัคซีน (หยอด) ตั้งแต่อายุ 2 เดือนและ 4 เดือน โดยสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวของลูกได้ค่ะ

วิธีดูแล

  • เมื่อลูกมีไข้ ควรเช็ดตัวและให้ยาลดไข้
  • ถ้าอาเจียน อาจให้กินน้ำโออาร์เอส (ผงน้ำตาลเกลือแร่) เพื่อรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • สามารถดื่มนมและรับประทานอาหารย่อยง่ายได้ สิ่งสำคัญ เมื่อลูกป่วยคือ การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และเมื่อลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ลูกไม่สามารถรับประทานอะไรได้ ปัสสาวะน้อยลงมีอาการซึมงอแง หรืออาเจียนบ่อยครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกมาพบคุณหมอทันทีค่ะ

ด้วยความปราถนาดี

จาก “อบอุ่น”

Comments